เช่าสูทผู้ชายออกงานต่างๆ

เช่าสูทผู้ชายออกงานต่างๆ

ชุดสูท Tails ถือได้ว่ามีความเป็นทางการสูงที่สุด ผู้ชายมักสวมใส่ชุด Tails ในงานที่มี Dress Code แบบ White Tie จุดสังเกตของชุด Tails ที่ชัดเจนที่สุดคือ เสื้อ Tailcoat ที่มีชายเสื้อด้านหน้าสั้นแตะระดับสะโพก (Hip) แต่ชายเสื้อด้านหลังยาวถึงระดับหลังหัวเข่า หรือบางคนอาจเรียกติดตลกว่า “เสื้อโค้ทเพนกวิ้น” ด้วยหางที่ยาว ๆ ของมันนั่นเอง

เสื้อ Tailcoat ที่ถูกต้องจะมีสีดำเสมอ เมื่อสวมใส่กางเกงสีดำที่ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดเดียวกัน และผูกด้วยโบไทสีขาว (White Bow Tie) จะรวมเรียกทั้งชุดนี้ว่า “The Tails” ซึ่งจะเป็นชุดสูทสมบูรณ์สำหรับใช้ในงานที่มี Dresscode ระบุว่า White Tie หรือ Tails

ชุดที่เป็นทางการถัดลงมาจาก The Tails คือ The Morning Dress โดยเสื้อตัวนอกจะยังมีหางด้านหลังยาวแบบเพนกวิ้นเช่นเดิม แต่ตัวเสื้อด้านหน้าจะไม่ตัดจบตรงสะโพก แต่ตัดให้โค้งเชื่อมลงไปกับหางด้านหลังแทน The Morning Dress จะสวมใส่เสื้อโค้ทเช่นนี้กับเสื้อกั๊กสีเทาหรือสีครีม และสวมใส่กางเกงสีเทาลายทาง พร้อมผูกเนกไทสีเทาแทนการผูกโบสีขาว มีวัตถุประสงค์สำหรับใช้ในงานที่เป็นทางการสูงแต่จัดในเวลาเช้า ปัจจุบันเราจะเห็นผู้ชายใส่ชุดแบบนี้ในการเข้าร่วมงานใหญ่อย่าง Royal Wedding ของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะมีช่วงที่จัดในเวลากลางวันนั่นเอง

The Dinner Suit มีต้นกำเนิดราวช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร (King Edward VII) จากข้อมูลของห้องเสื้อ Henry Poole บนถนน Saville Row กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงเบื่อหน่ายกับการใส่ เสื้อโค้ทเพนกวิน (The Tailcoat) เพื่อเสวยข้าวเย็นทุกวี่วัน จึงขอให้ Henry Poole ช่วยออกแบบชุดที่ดูทะมัดทะแมงขึ้นให้หน่อย ทาง Henry Poole จึงเสนอชุด The Dinner Suit ที่เป็นชุดเสื้อแจ็กเก็ตตัวสั้นสีดำ พร้อมปกผ้าซาตินสีดำมันวาว ใส่คู่กางเกงสีดำเข้าชุดกัน สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาว และผูกโบไทสีดำ (Black Bow Tie)

กาลเวลาผ่านไป มีชาวอเมริกันได้ตัดชุด The Dinner Suit แบบนี้ไว้ใช้เช่นกัน จากนั้นเมื่อเขากลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้นำชุด The Dinner Suit ไปสั่งทำขึ้นใหม่ที่ร้านตัดสูทในย่าน Tuxedo Park ชานกรุงนิวยอร์ค กลายเป็นที่มาของชื่อ ชุดทักสิโด้ (Tuxedo) ไปโดยปริยาย

The Dinner Suit หรือ Tuxedo นิยมใช้สีดำทั้งตัวเสื้อและกางเกง คู่กับเสื้อเชิ้ตสีขาวและผูกโบไทสีดำเป็นหลัก แม้ปัจจุบันมีการใช้สีอื่น เช่น สีน้ำเงินเข้มเที่ยงคืน (Midnight Blue) แต่ต้นตำรับแล้วนั้นควรเป็นสีดำสนิทครับ โดยผู้ชายจะใส่ The Dinner Suit หรือ Tuxedo นี้ในงานที่มี Dress Code แบบ Black Tie และจะสวมใส่ในช่วงเวลากลางคืน “เท่านั้น”

เราทิ้งท้าย The Dinner Suit หรือ Tuxedo ด้วยการย้ำว่าให้ใส่ในช่วงเวลากลางคืน “เท่านั้น” คำถามก็คือ แล้วถ้าเป็นงานที่จัดขึ้นในเวลากลางวัน แต่ไม่ถึงขั้นต้องใส่เสื้อโค้ทเพนกวิ้นล่ะ? ผู้ชายจะใส่ชุดอะไร คำตอบคือ The Black Lounge Suit หรือ Stroller Suit ครับ หลักการแต่งกายนั้นง่ายมาก ให้ย้อนกลับไปอ่าน The Morning Dress จากนั้นถอดเสื้อโค้ทเพนกวินออก แล้วหยิบเสื้อแจ็กเก็ตสูทสีดำความยาวปกติมาใส่แทน เท่านี้ก็เปลี่ยนจาก The Morning Dress กลายเป็น The Black Lounge Suit ได้แล้ว

อันที่จริงการเรียก The Black Lounge Suit อาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เนื่องจากเมื่อพูดถึง “ชุดสูท” แปลว่าสีของเสื้อแจ็กเก็ตกับกางเกงขายาวจะต้องทำจากผ้าชนิดเดียวกันที่มีสีเหมือนกันเสมอ แต่ The Black Lounge Suit นี้เป็นการดัดแปลง The Morning Dress ให้ใช้ในบรรยากาศที่สบาย ๆ มากขึ้น และได้รับการ “ละไว้ในฐานที่เข้าใจ” ว่ามันเป็น Suit ประเภทหนึ่ง แม้ไม่ได้ใช้สีเสื้อแจ็กเก็ตกับกางเกงที่ตรงกันเป๊ะก็ตาม
The Business Suit

บรรดาชุด สูทผู้ชาย ข้างต้นอาจไกลตัวผู้ชายไทย และมีโอกาสได้ใช้กันค่อนข้างน้อย แต่ The Business Suit คือเขตแดนที่พวกเราควรรู้จักกันจริง ๆ นั่นเพราะชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นชุดสูทสำหรับการทำงาน, ประชุมงาน, ติดต่อธุรกิจ หรือเข้าร่วมงานสัมมนาต่าง ๆ ลักษณะของ The Business Suit คือชุดสูทที่เราพบเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน ประกอบด้วยเสื้อแจ็คเก็ตสูท กับกางเกงขายาว ที่ตัดเย็บด้วยผ้าชนิดเดียวกันและมีสีเหมือนกัน สวมทับเสื้อเชิ้ตพร้อมทั้งผูกเนกไทให้เรียบร้อย

สิ่งที่สำคัญของ The Business Suit อยู่ที่เรื่องของสีและเนื้อผ้าที่นำมาตัดเย็บเป็นหลัก The Business Suit จะไม่ใช้ผ้าสีอ่อนและผ้าที่ยับง่าย แต่จะเน้นสีเข้ม ๆ อย่าง สีน้ำเงินเข้มจัด, สีเทาเข้มชาร์โคล หรือแม้แต่สีดำ เป็นต้น เนื้อผ้าที่นิยมใช้นั้นมักจะเป็นผ้าวูล (Wool) แท้ 100% เน้นผ้าที่ทิ้งตัวดีและไม่ยับย่นง่าย เช่น High Twist Wool หรือ Worsted Wool อีกทั้ง The Business Suit จะหลีกเลี่ยงลวดลายบนตัวผ้า เน้นสีพื้นทึบเป็นหลัก หรือบ้างอาจใช้เป็นลายทาง Pinstripe หรือ Chalkstripe ซึ่งก็ยังสามารถจัดเป็น The Business Suit ได้เช่นกัน

อีกหนึ่งขั้นของการแต่งกายสไตล์ชุดสูทที่ถึงแม้ไม่ได้จัดว่าเป็น “สูท” ตามความหมายที่ตรงไปตรงมาของมัน แต่ถือเป็นชุดที่ควรค่าแก่การพูดถึง นั่นเพราะ The Navy Jacket and Grey Trousers ได้กลายเป็น “เครื่องแบบ” ของการแต่งกายคลาสสิคสำหรับผู้ชายไปแล้วในปัจจุบัน วิธีการนั้นง่ายมาก เสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนกไท สวมทับด้วยเสื้อแจ็กเก็ตเบลเซอร์สีกรมท่า ตามด้วยกางเกงขายาวผ้าวูลสีเทาทิ้งตัวดี นี่คือ Combination ที่ “สิ้นคิดแต่ทรงคุณค่า” สำหรับผู้ชายโดยแท้จริง ความเป็นทางการของชุดนี้เป็นรอง The Business Suit เพียงนิดเดียวเท่านั้น

กลับมาสู่เส้นทางของ “ชุดสูท” อีกครั้ง The Casual Suit หรือ “สูทลำลอง” จะประกอบด้วยเสื้อแจ็กเก็ตกับกางเกงที่มีสีเดียวกัน โดยเน้นใช้สีสันที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตัวเสื้อแจ็คเก็ตจึงดูมีความลำลองในสไตล์ Sport Jacket อีกทั้งยังเน้นความสว่างของสีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำเงินที่อ่อนกว่ากรมท่าลงมา, สีเบจ, สีน้ำตาล, สีเขียว หรือ สีครีม นอกจากนี้เนื้อผ้าและลวดลายของผ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชุดสูทดูลำลองยิ่งขึ้น The Casual Suit มักจะใช้ผ้าที่ให้ความรู้สึกสบาย ๆ อย่าง ผ้าฝ้าย (Cotton), ผ้าลินิน (Linen) หรือผ้าผสมอย่าง Wool+Linen หรือ Cotton+Linen เป็นต้น และสามารถเพิ่มลวดลายหรือพื้นผิวของผ้าให้เด่นชัดขึ้นได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ผ้าลูกฟูก (Corduroy) หรือการพิมพ์ลายตาราง Glen Check และ Windowpane เป็นต้น

ลำดับสุดท้ายของ Suit Formality ไม่ใช่ชุดสูท แต่เป็นการจับคู่เสื้อสปอร์ตแจ็คเก็ตเข้ากับกางเกงหลากหลายรูปแบบอย่างฟรีสไตล์ โดยไม่จำเป็นต้องผูกเนกไทแต่อย่างใด ทำให้เราสามารถใช้งาน The Separates ได้ในทุกบริบทที่เราต้องการแต่งกายให้ “Smart” ยิ่งขึ้น

สิ่งที่ทำให้ชุด The Separates ดูเป็นทางการก็คือตัวเสื้อแจ็คเก็ตที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความรับรู้ว่ามันเป็นเสื้อชนิดพิเศษที่ปกติไม่ค่อยมีใครสวมใส่กันนักในชีวิตประจำวัน ลักษณะการรับรู้ดังกล่าวได้กลายเป็น “ช่องโหว่” ให้ผู้ชายที่รู้จักแต่งตัวสามารถ Upgrade ความเป็นทางการของการแต่งกายของตัวเองได้ในพริบตา เพียงแค่คุณมีเสื้อสปอร์ตแจ็คเก็ตสวย ๆ ตัวเดียว จะใส่คู่กับเสื้อยืด เสื้อโปโล หรือ เสื้อเชิ้ต จะใส่คู่กับกางเกงผ้า Dress Trousers หรือ กางเกงยีนส์ ก็เข้าข่าย The Separates ได้ทั้งสิ้น